วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ความหมายของโหราศาสตร์

ความหมายของโหราศาสตร์

คำว่า โหรา มาจากภาษาสันสกฤตว่า โหราตร์ตรงกับภาษามคธว่า อโหริตถะแปลว่า วันกับคืน หรือ ๒๔ ชั่วโมง

โหราศาสตร์คืออะไร

โหราศาสตร์ แปลว่าวิชาที่ว่าด้วยโมงยาม ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับดาว ธาตุ และโลก เป็นวิชาที่มีหลักเกณฑ์การคำนวณและแรงดึงดูดของกระแสธาตุหรือกำลังของดวงดาวในจักรวาล โหราศาสตร์ยังเป็นวิชาที่กล่าวถึงพลังอำนาจหรืออิทธิพลของดวงดาวที่มีต่อโลกมนุษย์ เกิดการรวมตัวกันทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกมนุษย์ ซึ่ง แสดงเป็นกาลเวลา ความมืด ความสว่าง ความร้อน ความเย็น การดึงดูดพลังงานให้รุ่งโรจน์หรืออัปปางต่อพฤติกรรมของมนุษย์

โหราศาสตร์ยังเป็นวิชาที่ตั้งอยู่บนฐานของสถิติศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งโหราศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์ เพราะมีเหตุมีผล มีหลักมีฐาน มีที่มาที่ไป มีสถิติเป็นเครื่องยืนยันรับรอง จากการบันทึกและการจดจำ ซึ่งเล่าต่อกันมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับอิทธิพลพลังอำนาจของดวงดาวที่โคจรอยู่บนท้องฟ้า บางกรณีก็ยังใช้เป็นสูตรตายตัวไม่ได้ เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยจากสถิติและความชัดเจนของผู้เป็นโหราศาสตร์นั้นเอง



ประวัติความเป็นมาของโหราศาสตร์

ประวัติความเป็นมาของวิชาโหราศาสตร์ไทย ซึ่งมีมาก่อนพุทธกาล อาจารย์ที่เรียนรู้เรื่องดวงดาวในท้องฟ้าพวกแรกในโลกคือ ดาบสหรือฤาษีที่อาศัยอยู่ในป่าหรือตามถ้ำต่างๆ ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้สำเร็จญาณสมาบัติชั้นสูง สามารถส่งกระแสจิตไปยังดวงดาวต่างๆ และได้สอบถามถึงความเป็นมาของดวงดาวเหล่านั้นและได้มีนิทานปรากฏเล่าต่อกันมา ดวงดาวต่างๆ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู พระเกตุและดาวอื่นๆ มีการโคจรรอบโลกเราและก็มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีอักขระใดๆ บันทึกไว้

ก่อนพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญในภพชาติต่างๆ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านได้เกิดเป็นดาบส อีกภพหนึ่งได้ไปพบพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งและได้ปรารถนาขอให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตข้างหน้าเช่นเดียวกับท่าน และในที่สุดก็ได้ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ ๗ วัน ก็มีดาบสมาเยี่ยม พอเห็นเจ้าชายก็ก้มกราบและพยากรณ์ว่าท่านต้องได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตแน่นอน และหนึ่งในหมู่ดาบสนั้นก็มีพระโกณฑัญญะพราหมณ์ด้วย ท่านโกณฑัญญะได้ถวายคำพยากรณ์ว่าเจ้าชายจะไม่ครองราชย์สมบัติ จะเสด็จออกแสวงหาโมขธรรม จนบรรลุเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นศาสดาเอกของโลกอย่างแน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนพราหมณ์คนอื่นๆ ถวายเป็น ๒ นัยยะ คือ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลกหรือ ถ้าครองราชย์สมบัติจะได้เป็นพระจักรพรรดิมหาราชเจ้า ปรากฏว่า คำพยากรณ์ของพราหมณ์หนุ่มโกณฑัญญะเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นยำตรงความเป็นจริง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัยได้ศึกษาและสำเร็จศิลปวิทยาแขนงต่างๆ รวม ๑๘ วิชา และหนึ่งในนี้คือ วิชาโหราศาสตร์ และแต่วิชาต่างๆ เหล่าน้ไม่ใช่วิชาที่จะสำเร็จธรรมได้

ผู้ศึกษาโหราศาสตร์ส่วนมากมักจะมีการคำนับครูหรือไหว้ครู ครูก็คือรูปปั้นพระฤาษีหรือดาบสและพระโหราจารย์ทั้ง ๕ คือ

๑. พระอัญญาโกณฑัญญะมหาเถระ

๒. พระวังคีสะมหาเถระ

๓. พระอุตมะรามะมหาเถระ

๔. พระอุทุมพรมหาเถระ

๕. พระอุตมะมังคลาจารย์มหาเถระ

ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ถ่ายทอดวิชาโหราศาสตร์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น เวลาพยากรณ์ดวงชาตามักจะเกิด อุคนิมิตหรือ เกิดญาณสังหรณ์ให้อ่านความหมายของดวงดาวได้อย่างแม่นยำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องงมงายไม่มีเหตุผล แต่เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและมีความจริง ซึ่งผู้พยากรณ์มองไม่เห็น ดังนั้น ก่อนจะเริ่มเรียนวิชาโหราศาสตรึงนิยมบูชาครูก่อนเสมอ

โหราศาสตร์เข้าสู่ประเทศไทย

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีแสนยานุภาพปราบปรามอินเดียตอนใต้ พ.ศ. ๒๐๐ ปีเศษนั้น ได้มีพราหมณ์หนีมาพึ่งอาณาจักรเขมรและต่อมาไทยได้อพยพจากประเทศจีนเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศและก็ได้มีการศึกษาวิชาโหรและลัทธิทางศาสนาพราหมณ์ด้วย หลังจากนั้นมีพระโสณเถระและพระอุตระเถระมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยก่อนนั้นได้ยกย่องพราหมณ์ขึ้นเป็นมหาราชครูเพื่อกระทำพิธีการมงคลต่างๆ ครั้ง กรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผาผลาญจนหมดสิ้น ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระโหราจารย์ได้รวบรวมตำราขึ้นใหม่ แต่ก็ใช้ในราชสำนักเท่านั้น ประชาชนบุคคลภายนอกไม่มีตำราครบบริบูรณ์ นอกจากเจ้าหน้าที่กรมโหรหรือพระผู้ใหญ่ในยุคนั้นซึ่งเป็นผู้ปรีชาเฉลียวฉลาด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กรมโหรต้องไปมาหาสู่พระผู้ใหญ่กลุ่มนั้นอยู่เสมอ แม้นในภายหลังได้มีการยุบกรมโหร โหราศาสตร์ก็ยังมีผู้สนใจอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดหอพระสมุดแห่งชาติและได้มีประชาชนนำคัมภีร์หรือตำราต่างๆ มามอบให้แก่หอสมุด พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามายืมอ่านและคัดลอกตำรับตำราต่างๆ ด้วยเหตุนี้ วิชาโหราศาสตร์จึงออกสู่ประชาชนทั่วไปตราบเท่าทุกวันนี้

โหราศาสตร์เป็นวิชาสถิติอย่างไร

โหราศาสตร์เป็นวิชาสถิติเบื้องต้นในแง่ที่ว่าได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นตัวเลขซึ่งแสดงข้อเท็จจริงต่างๆ มีการตีความหมาย วิเคราะห์ การคิดคำนวณเพื่อให้สามารถบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเลขที่มีความหมายแทนดวงดาวได้อย่างแจ่มชัดและอย่างมีประสิทธิภาพ นับว่าเป็นศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลของความสัมพันธ์ของดวงดาวเหล่านั้นมาทำนายเหตุการณ์หรือใช้ประกอบการตัดสินใจภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนของอนาคต

วิชาโหราศาสตร์ไม่ใช้วิธีการศึกษาด้วยการคาดคะเนแต่ได้ใช้วิธีการศึกษาด้วยการพินิจพิเคราะห์ทั้งสามกาล คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาลและอนาคตกาล การเก็บสถิติดวงชะตาต่างๆ ก็ต้องไม่มีอคติ มิฉะนั้นข้อมูลที่ได้จะไม่ตรงกับความเป็นจริง ความแม่นยำนั้นขึ้นอยู่กับโหรหรือนักโหราศาสตร์หรือนักพยากรณ์แล้วแต่จะเรียก ซึ่งจะเข้าใจวิธีการอ่านดวงชะตาได้มากน้อยแค่ไหน อ่านได้ละเอียดลึกซึ้งแค่ไหน อ่านได้ละเอียดหรือไม่ ถ้าโหรท่านนั้นเห็นดวงชะตาโดยไม่เคยรู้จักเจ้าชาตามาก่อนแต่อ่านได้อย่างแม่นยำยังกับรู้จักกันมาก่อน ระดับความเชื่อถือในการพยากรณ์ก็มีถึง ๙๕% ซึ่งผิดพลาด ๕% เป็นความคลาดเคลื่อนในการทำนายอาจเกิดขึ้นด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้

๑. เวลาตกฟากไม่แน่นอน

๒. ผูกดวงผิด

๓. ได้ข้อมูลจากผู้มาให้พยากรณ์ผิด เช่น ไม่บอกทุกสิ่งตามความเป็นจริง

๔. กรรมปัจจุบันมาถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น